• Home
  • เกี่ยวกับสาขา

เกี่ยวกับสาขา

ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

สาขาวิชาวิศวกรรมโยธาเริ่มต้นเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีอย่างเป็นทางการใน ปีการศึกษา 2542 โดยรับนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 35 คน ซึ่งล้วนเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากสาขาช่างก่อสร้าง ช่างโยธา และช่างสำรวจ เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (หลักสูตรต่อเนื่อง) ภาคปกติในช่วงเริ่มต้น หลักสูตรที่ใช้ได้รับการอนุมัติจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (ศูนย์กลางคลองหก) และนำมาจัดการเรียนการสอน ณ วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ โดยการดำเนินงานของสาขาวิชาวิศวกรรมโยธาในขณะนั้น อยู่ภายใต้การดูแลของคณะวิชาช่างโยธา ซึ่งประกอบด้วยแผนกวิชาช่างก่อสร้าง แผนกวิชาช่างโยธา และแผนกวิชาช่างสำรวจ สถานที่เรียนประกอบด้วยห้องเรียนและห้องปฏิบัติการของแผนกต่าง ๆ ดังกล่าว โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันต่อมาใน ปีการศึกษา 2544 สาขาวิชาได้ขยายโอกาสทางการศึกษาให้กว้างขึ้น โดยเปิดรับนักศึกษาภาคสมทบเพิ่มเติมในหลักสูตรเดียวกัน เพื่อรองรับผู้ที่ทำงานประจำแต่ประสงค์จะศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โดยจัดการเรียนการสอนนอกเวลาราชการ ซึ่งถือเป็นรูปแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียนที่มีข้อจำกัดด้านเวลา

นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาก่อนปีการศึกษา 2550 ยังคงใช้หลักสูตรที่ได้รับจากศูนย์กลางคลองหก และได้รับการรับรองจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งเป็นองค์กรต้นสังกัดในขณะนั้น ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2548 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานะที่สำคัญ กล่าวคือ วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ วิทยาเขตบพิตรพิมุข มหาเมฆ และวิทยาเขตพระนครใต้ ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้รวมตัวกันและ เปลี่ยนสถานะเป็น “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ” อย่างเป็นทางการตามพระราชบัญญัติการปรับปรุงโครงสร้างการจัดการอุดมศึกษาของรัฐภายหลังการเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัย สาขาวิชาวิศวกรรมโยธาได้ถูกจัดให้อยู่ในสังกัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมทั้งมีการปรับปรุงและพัฒนา หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) ใหม่เป็นแบบ 4 ปีเต็ม เพื่อรองรับกลุ่มนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทย์-คณิต (ม.6) ซึ่งถือเป็นการเปิดกว้างทางการศึกษาให้กับนักเรียนจากหลากหลายเส้นทางการเรียนรู้ ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน สาขาวิชาวิศวกรรมโยธาได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านหลักสูตร คณาจารย์ และทรัพยากรทางการศึกษา เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการผลิตวิศวกรที่มีความรู้ ความสามารถทางเทคนิค และจริยธรรมวิชาชีพ

สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง (Structural Engineering)

นอกจากนี้ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ได้ตระหนักถึงความสำคัญของภารกิจด้านวิชาการ จึงได้พัฒนาหลักสูตรทางด้านวิศวกรรมโยธาในระดับสูงในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ วิศวกรรมโครงสร้าง วิศวกรรมปฐพี วิศวกรรมขนส่ง วิศวกรรมสำรวจ และการบริหารการก่อสร้าง เพื่อผลิตดุษฏีบัณฑิตและมหาบัณฺฑิตทางด้านวิศวกรรมโยธาที่มีความรู้ความสามารถในงานวิศวกรรมโยธาสาขาต่าง ๆ เพื่อการศึกษา ออกแบบ วิเคราะห์ วางแผนและบริหารโครงการ การวิจัยและพัฒนา สรรสร้างองค์ความรู้ใหม่ โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้กับทรัพยากร สภาพแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมของไทยได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่มีคุณภาพและมีทิศทางที่ชัดเจน

สาขาวิศวกรรมปฐพี (Geotechnical Engineering)

เกี่ยวข้องกับการเจาะสำรวจดินเพื่อการก่อสร้าง การออกแบบฐานรากของอาคารและสะพาน อุโมงค์ใต้ดิน การออกแบบและบำรุงรักษาเขื่อนดิน และรวมถึงการป้องกันวิบัติภัยทางธรรมชาติ ซึ่งต้องอาศัยทั้งความรู้ทางด้านธรณีวิทยา การตรวจวัด การสังเกต และการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่มีความซับซ้อน

SJ250_Sunset_High_Speed_Sweden
What-does-a-CM-do-1200x642
shutterstock_576627958-min
สาขาวิศวกรรมขนส่ง (Transportation Engineering)

เกี่ยวข้องกับการขนส่งมวลชน และการขนส่งสินค้าทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางท่อ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย กระจายรายได้ และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยศึกษาด้านการออกแบบทาง การจราจร การวางแผนการขนส่งระบบราง สนามบิน ท่าเรือ

สาขาบริหารการก่อสร้าง (Construction Management)

เกี่ยวข้องกับการบริหารโครงการ ตั้งแต่การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ไปจนกระทั่งสิ้นสุดการก่อสร้าง วิศวกรจึงจำเป็นต้องมีทักษะรอบด้านทั้งในด้านธุรกิจ การบริหารสัญญา โลจิสติกส์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อบริหารจัดการโครงการอุตสาหกรรมการก่อสร้างซึ่งมีความเสี่ยงสูง

วิศวกรรมชลศาสตร์ (Water Resources Engineering)

เป็นสาขาหนึ่งของวิศวกรรมโยธาที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ ออกแบบ และควบคุมการไหลของน้ำ โดยใช้หลักกลศาสตร์ของไหล เพื่อพัฒนาโครงสร้าง เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ระบบชลประทาน และการระบายน้ำ ทั้งเพื่อการใช้งานและป้องกันภัยจากน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน